ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมานั้น ได้มีการประกาศใช้กฎหมายจราจรฉบับใหม่ ซึ่งมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอัตราโทษ ในหลายๆ ข้อหา รวมไปถึงข้อหา ขับขี่รถขณะเมาสุรา หรือ เมาแล้วขับ นั่นเอง ซึ่งในข้อหาที่มีการปรับอัตราโทษให้สูงขึ้น จะเป็นอย่างไร แอดมินสรุปไว้ให้ในบทความนี้ครับ
ก่อนอื่นก็ต้องพูดถึง การดำเนินคดีข้อหา เมาแล้วขับ ในอดีตที่ผ่านมานั้น ซึ่งถ้าคนที่เคยโดนจับจะทราบดีว่า หากถูกตำรวจจับกุมข้อหา เมาแล้วขับ ก็จะถูกคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจ 1-2 วัน หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะพาไปขึ้นศาล และเสียค่าปรับ มากน้อยตามระดับแอลกอฮอล์ ก็เป็นอันเสร็จ แยกย้ายกลับบ้าน ไม่ติดคุกแต่อย่างไร
แต่สำหรับกฎหมายจราจรทีประกาศใช้ใหม่นี้นั้น หากเป็นการทำผิดครั้งแรก จะมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 ถึง 20,000 บาท ซึ่งขั้นตอนการดำเนินคดีก็จะเป็นแบบกฎหมายเก่า คือไปเสียค่าปรับที่ศาล และส่วนใหญ่จะรอลงอาญา ไม่ถูกจำคุก
แต่สำหรับผู้ที่กระทำความผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก จะมีการเพิ่มอัตราโทษ เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000 ถึง 100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ และจะถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ซึ่งขั้นตอนในการดำเนินคดีนั้น เนื่องจากเป็นคดีค่าปรับอย่างสูง มากกว่า 60,000 บาท ร้อยเวรหรือพนักงานสอบสวน จะต้องทำการทำสำนวนคดีแบบเต็มรูปแบบ โดยจะต้องส่งตัวผู้ต้องหา ไปทำการฝากขังที่ศาลจังหวัดในท้องที่ เป็นเวลา 12 วัน 4 ครั้ง รวม 48 วัน หรือจนกว่าคดีจะถูกส่งฟ้อง
ซึ่งก็เรียกได้ว่า หากถูกจับกุมในข้อหา ขับขี่รถขณะเมาสุรา หรือ เมาแล้วขับ และเป็นการกระทำความผิดซ้ำภายใน 2 ปี ก็จะต้องถูกฝากขัง หรือติดคุก ตั้งแต่ยังไม่ถึงขั้นตอนการพิพากษาเลยด้วยซ้ำ และเมื่อศาลตัดสิน ศาลก็อาจลงโทษจำคุกได้อีกด้วย ดังนั้นแล้ว หากเมาสุรา ก็อย่าขับรถกันนะครับ